งานประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตากวันที่ 8 - 12 พฤศจิกายน 2551
ณ บริเวณแม่น้ำปิง ริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก
ประเพณีลอยกระทงสาย ของจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่นำเอาพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน งานศิลปวัฒนธรรมมาหล่อหลอมรวมกันจนเป็นรูปแบบที่โดดเด่นปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจะแตกต่างจากจังหวัดอื่นเพราะส่วนประกอบของกระทงที่ใช้กะลามะพร้าว ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะมีสันทรายใต้น้ำทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามตามธรรมชาติ เมื่อนำกระทงลอยกระทงจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าวเกิดเป็นสายยาวต่อเนื่องของกระทงทำให้แสงไฟของกระทงส่องแสงระยิบระยับเป็นสายยาวตามความยาวของร่องน้ำมีความสวยงามมาก จึงได้มีการพัฒนารูปแบบจากการลอยในชุมชนมาเป็นการแข่งขันลอยกระทงสาย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศเป็นประจำทุกปี และยังได้รับพระราชทานพระประทีปจากพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์ มาลอยเป็นปฐมฤกษ์ในการจัดงาน
สำหรับการจัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวงนี้จะแตกต่างจากจังหวัดอื่นอีกประการหนึ่งคือ ก่อนที่จะมีการแข่งขันลอยกระทงสาย 1 วัน จะต้องนำกระทงขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากระทงนำพร้อมกระทงกะลา และกระทงปิดท้าย ซึ่งประดิษฐ์อย่างวิจิตรงดงามออกมาแห่ โดยมีผู้ร่วมขบวนแห่จำนวน 100 คน แต่งกายอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อแข่งขันในวันต่อไป
ในการแข่งขันลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ในแต่ละสายจะต้องประกอบด้วย
1. กระทงนำ เป็นกระทงขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 - 2.50 เมตร ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตอง ดอกไม้สดที่เย็บเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วจึงนำมาประกอบเป็นรูปกระทง ภายในกระทงต้องมีผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมากพลู ขนม สตางค์ ธูป เทียน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ประยุกต์มาจากแพผ้าป่าน้ำในสมัยโบราณ ส่วนรอบกระทงจะประดับด้วยไฟเพื่อให้เกิดแสงสว่างสวยงาม ก่อนจะนำลงรอยต้องทำพิธีจุดธูปเทียน กล่าวคำขอขมาเป็นการบูชาพระแม่คงคาและพระพุทธเจ้า พร้อมถวายผ้าป่าน้ำแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงลอยเป็นอันดับแรก
2. กระทงกะลา ใช้กะลามะพร้าวจำนวน 1,000 ใบ นำมาขัดถูให้สะอาดทั้งภายในและภายนอก ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฝั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์ได้จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนเหล่านั้นมาหลอมละลายด้วยความร้อนหล่อลงในกะลาที่มีด้ายรูปตีนกา สำหรับเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟก่อนที่จะปล่อยลงลอย แลดูเป็นสายสวยงามและมีไฟส่องแสงระยิบระยับจนสุดสายตา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่นำกระทงกะลาทุกดวงมาลอยในแม่น้ำปิง
3. กระทงปิดท้าย มีลักษณะคล้ายกระทงนำแต่มีขนาดเล็กกว่า ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตองและดอกไม้สด ลอยปิดท้ายหลังจากลอยกระทงกะลาครบ 1,000 ใบ พร้อมทั้งมีสัญลักษณ์ให้ทราบว่าได้สิ้นสุดการลอยของสายกระทงนั้นแล้ว
4. การเชียร์ ในขณะที่ทำการลอยกระทงสายอยู่นั้นจะมีกองเชียร์ร่วมร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานครื้นเครอง เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำการลอย ซึ่งการแสดงเหล่านี้มีรูปแบบที่เป็นระบบภายใต้กรอบที่กำหนด คือมีผู้แสดงไม่น้อยกว่า 80 คน แต่งกายแสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย เพลงที่นำมาร้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับประเพณีไทยหรือวิถีชีวิตของชุมชน ดนตรีที่นำมาบรรเลงต้องใช้เครื่องดนตรีไทยทั้งหมดและจะต้องใช้กะลาเป็นส่วนประกอบของการแสดงอย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งการแสดงทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
กิจกรรมภายในงาน
- สัมผัสบรรยากาศและร่วมเชียร์การแข่งขันประกวดกระทงสายชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ชมขบวนแห่อัญเชิญพระประทีปพระราชทานของพระบรมวงศานุวงศ์ 10 พระองค์ ขบวนแห่ถ้วยพระราชทาน และขบวนแห่กระทงสายประจำปี 2551 ยิ่งใหญ่ตระการตา ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
- ชมพิธีเปิดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง พร้อมการแสดง "ตำนานกระทงสาย" ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
- ชมการลอยกระทงสายยาวที่สุด ยิ่งใหญ่ตระการตามากถึง 80,000 ดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
- ชมการประกวดกระทงใหญ่ กระทงผ้าป่าน้ำ กระทงตาม และกระทงปิดท้าย การประกวดการเชียร์ที่สวยสดงดงาม ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
- ชมการแข่งขันปล่อยกระทงสายชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการเชียร์แต่ละชุมชนบนเวทีกลางลำน้ำปิงอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ระหว่างวันที่ 8 - 12 พฤศจิกายน 2551
- ชมการประกวดธิดากระทงสาย วันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
- การแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง
- การจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระหว่างวันที่ 5 - 12 พฤศจิกายน 2551
- การประกวดศิลปหัตถกรรมของนักเรียน การประกวดเพลงพื้นบ้านเกี่ยวกับกระทงสาย และการแสดงมหรสพต่างๆ
สอบถามรายละเอียด เทศบาลเมืองตาก โทรศัพท์ 0 5551 8888
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก โทรศัพท์ 0 5551 4341-3